Eat to Live, Not Live to Eat; Informed Choices for a Better World
กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน การเลือกอย่างตระหนักเพื่อโลกที่ดีกว่า
เราคงเคยได้ยินวลียอดฮิตที่ว่า "กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน" กันมาบ้างแล้ว การ "กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน" ก็คือการกินแต่พอดีคือพออิ่ม พอเพียงคือพอประมาณสมตามฐานะ และพอสมควรคือไม่กินทิ้งกินขว้าง
วลีนี้ฟังดูอาจจะดูล้าสมัยไปสักนิดสำหรับสังคมยุค 4.0 เพราะเราจะเห็นร้านอาหาร Gourmet งอกเป็นดอกเห็ดไปทั่วกรุงเทพฯ และตามเมืองใหญ่ๆ ผู้คนแห่แหนเดินทางขับรถเป็นชั่วโมงข้ามเมืองเพื่อจะไปในร้านที่ได้รับรางวัล Michelin Stars ทำให้เกิดการปัญหาการจราจรและปัญหามลพิษทางอากาศ รายการแข่งขันทำอาหารเช่นเชฟกระทะเหล็กและรายการแนะนำรายอาหารได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย กล่าวกันว่าจากสภาพการทำงานและสังคมที่ตึงเครียด อาหารเป็นการบำบัดความสุขอย่างหนึ่งของสังคมเมืองทีเดียว
แต่หากจะดูให้ดีจริงๆ วลีนี้กลับมีความคลาสสิคและอาจกล่าวได้ว่ามีความล้ำยุคล้ำสมัยอยู่ในตัวเอง เพราะเริ่มมีกระแสของการรักสุขภาพ มีการทานอาหารคลีน(อาหารลดกระบวนการในการผลิตให้น้อยที่สุด) อาหารที่ทำจากแป้งไม่ขัดสี(Whole food) อาหารที่ทำจากพืช(Plant-based Food) อาหารมังสวิรัติ อาหารเจ(Vegan Food) หรือแม้แต่การลดน้ำหนักแบบจำกัดช่วงเวลาการกิน (Intermittent Fasting หรือ IF) ซึ่งก็คือนอกจากเน้นตัวอาหารที่ต้องมีคุณค่าทางโภชนาการแล้ว การรับประทานก็ต้องทานอย่างพอดี พอเพียง พออิ่ม พอสมควร พอประมาณที่เน้นคุณค่าทางโภชนาการจึงจะเกิดผลดีต่อสุขภาพนั่นเอง
แต่น่าเสียดายที่กระแสการ "อยู่เพื่อกิน" ยังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน ยิ่งในสังคมเมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสังคมที่พัฒนาแล้วและมีทรัพยากรเหลือเฟือ มีการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย รายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)ได้พบว่าขยะอาหารเป็นปัญหาสำคัญของโลกในยุคดิจิตัลเลยทีเดียว ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือขยะอาหารที่อยู่ในบ้านเกิดจากสาเหตุที่แก้ไขได้หากมีข้อมูลและมีความตระหนักรู้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ จากรายงานของ FAO กล่าวว่าขยะอาหารที่พบในร้าน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารของโรงแรม ร้านอาหาร หรือซุปเปอร์มาเก็ต เกิดจากการเลือกอาหารตามสุนทรียภาพ คือหากสภาพทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง สี หรือขนาดไม่ได้ตามลักษณะตามศิลปะความงามแล้ว อาหารก็ไม่ถูกเลือกซื้อหรือบริโภคหรือถูกทิ้งให้เป็นขยะไปในที่สุด เช่น ในซุปเปอร์มาร์เก็ตหากหัวแคร์รอทเบี้ยวไปหน่อย ผู้บริโภคก็เลือกหยิบหัวที่ตรงๆแทน ผักที่มีรอยแมลงกัดกินนิดหน่อยก็ถูกทิ้งไม่มีคนเลือกซื้อเลย ทั้งที่ได้คุณค่าทางโภชนาการเท่ากันก็ตาม แม้ในความจริงแล้วกระเพาะอาหารของเราไม่อาจแยกแยะรูปทรง สี หรือขนาดของอาหารที่เรารับประทานลงไปเลย และยิ่งลำไส้ใหญ่ของเรายิ่งไม่สามารถแยกแยะว่าอาหารสี รูปทรง หรือขนาดอะไรในอุจจาระของเราได้เลย
จึงเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ ที่ทรัพยากรธรรมชาติได้ถูกใช้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพจนเกิดเป็นขยะ ในปี 2016 กรมควบคุมมลพิษออกมาชี้แจงว่า 27.06 ล้านตันของขยะมูลฝอย เกินครึ่งหรือกว่า 64% ล้วนเป็นขยะอาหารทั้งสิ้น สถิติอันน่าตกใจที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ คือขยะอาหารที่คนไทยทิ้งต่อวันมีปริมาณสูงถึง 300-500 ตัน หากมีการป้องกันไมใช้เกิดขยะเหล่านี้ได้นอกจากจะมีปริมาณอาหารบริโภคเพิ่มขึ้น ยังเป็นการลดมลพิษจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการทำกสิกรรมผลิตวัตถุดิบและการย่อยสลายขยะอาหารเหล่านี้ด้วย
วิธีการเล็กๆ ที่เราทุกคนจะเริ่มได้ในการลดขยะอาหาร นอกจากการไม่เลือกลักษณะพืชและผักตามรูปทรง สี และขนาดที่สวยงามเท่านั้น เพียงแต่เลือกให้เหมาะสมกับคุณค่าอาหารในปริมาณที่พอรับประทานแต่พอดี และมีความรู้เรื่องการตีค่าบนฉลากอย่าง Best Before (ควรบริโภคก่อน) และ Expired by (วันหมดอายุ)
มูลนิธิ Thai Scholars of Sustenance (Thai SOS) ซึ่งเป็นองค์การรักษ์อาหาร องค์กรนี้เป็นความตั้งใจของคนกลุ่มเล็กๆ ที่นำอาหารเหลือและวัตถุดิบจากโรงแรม ร้านอาหาร และซุปเปอร์มาร์เก็ตมาแปรเป็นมื้ออาหารให้ผู้ยากไร้ และที่เหลือนำมาทำปุ๋ยเพื่อการเกษตร มูลนิธิรักษ์อาหารสามารถตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals (SDGs 2030) ที่องค์การสหประชาชาติได้เสนอเป็นเป้าหมายในการพัฒนาของทั่วโลก ได้แล้ว 2 ข้อ คือข้อ 2 Zero Hunger หรือขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน และข้อที่ 12 Sustainable Consumption and Production หรือการวางแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน
SOS ได้อธิบายว่า คนมักทิ้งอาหารไปทั้งที่มันยังคงมีคุณภาพดีอยู่หรือทิ้งก่อนที่จะมันจะกินไม่ได้จริงๆ เนื่องจากความเข้าใจผิดเรื่องการตีความค่าบนฉลากอย่าง Best Before กับ Expired By/Expiry Date/Use by
“คำว่า Best Before หมายความว่าถ้าคุณทานอาหารตามเวลาที่กำหนดนี้มันจะคุณภาพดีที่สุด แต่เลยเวลานั้นไม่ได้หมายความว่ากินไม่ได้แล้ว อาจจะแค่คุณภาพไม่ถึง เนื้อไม่แน่น หรือมันอาจจะบดเป็นผงง่ายขึ้น ถ้าเป็น Expired By/Expired Date/Use by คือเลยวันที่กำหนดก็ห้ามกินแล้ว มักจะถูกใส่ไว้ในของที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะคุณภาพของผักและผลไม้มันไม่ได้อยู่ที่ป้าย มันอยู่ที่การรักษา แค่วางผิดอุณหภูมิอาหารก็สามารถเสียได้ก่อนเวลานั้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม มันจะอยู่ได้นานกว่าป้ายนั้นไปเป็นอาทิตย์เลย”
นอกจากนี้ "การกินเพื่ออยู่" ยังหมายถึงการบริโภคแต่พออิ่มพอดี พอประมาณไม่กินทิ้งกินขว้าง ครอบครัวควรวางแผนการเลือกซื้ออาหาร ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการประหยัดเวลาในการจับจ่าย ไม่ควรซื้อไปเผื่อจนมากเกินไป ควรให้ความใส่ใจกับคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการเป็นหลัก เริ่มจากการปลูกฝังให้เด็ก หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ก็ตาม ตักอาหารแต่พอรับประทานและรับประทานอาหารให้หมดจาน
ถ้าเราทุกคนหันมาเริ่มต้นที่ตัวเอง เมื่อคนตัวเล็กหลายคนเริ่มต้นทำสิ่งเล็กๆ ผลลัพธ์จะผลิดอกออกใบขยายเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ ที่ส่งผลต่อสังคมและโลกใบนี้
หากท่านสนใจกิจกรรมของ Thai Scholars of Sustenance (Thai SOS) หรือต้องการบริจาคเพื่อสนับการทำงานเพื่อลดขยะอาหารสามารถติดตามได้ที่ www.scholarsofsustenance.org โทร: 062-675-0004
เรื่องโดย: พรรณทิพา พิชัยลักษณ์
Comentários