top of page
Writer's pictureSOS-Content Staffs

‘Treatsure’ เมื่ออาหารส่วนเกินคือขุมทรัพย์ ทางออกที่สร้างสรรค์ของอาหารเหลือจากบุฟเฟ่ต์โรงแรม



“กินอะไรดี ?”


หนึ่งในปัญหาโลกแตกของมนุษย์ศิวิไลซ์อย่างพวกเรา ในเมื่อการกินอาหารไม่ได้เป็นแค่ภารกิจประทังชีวิต แต่บรรจุไปด้วยสุนทรีย์ของประสาทสัมผัส ทั้งรส รูป กลิ่น เสียง การกินสำหรับหลายๆ คนจึงไม่ใช่แค่กินให้อิ่มไปวันๆ แต่เป็นความสุขสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิต เป็นเหมือนการให้รางวัลกับตัวเอง ดังนั้นจะเลือกกินสักมื้อ สำหรับบางคนก็ไม่ใช่เรื่องที่ตัดสินใจได้ง่ายเลย


ดังนั้นอะไรเล่าจะดีไปกว่า การได้กินมันเสียหมดทุกอย่างที่อยากกิน !

โน่นนิด นี่หน่อย และหยิบเพิ่มเมื่อไหร่ก็ได้ที่อยากหยิบ


ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึงบุฟเฟ่ต์นั่นเอง


สมมุติว่าคุณกำลังอยู่ในห้องอาหารบุฟเฟต่ในโรงแรมแห่งหนึ่ง วันนี้อาหารอร่อยมาก คุณมีความสุขกับการกิน จนกังวลเล็กน้อยด้วยซ้ำว่ากางเกงตัวที่ใส่อยู่ท่าจะไม่พอดีเสียแล้ว แต่เมื่อระหว่างที่คุณเดินกลับออกมาก็เป็นเวลาบุฟเฟ่ต์ใกล้จะปิดให้บริการพอดี แต่คุณยังเห็นขาแกะตุ๋นซอสวางงดงามอยู่อย่างนั้น คุณยังเห็นลาซานญ่าอุ่นๆ ยังอยู่ในภาชนะของมัน เช่นเดียวกับซุปเห็ดทรัฟเฟิล สลัดบาร์ และเมนูอื่นๆ ที่ยังจัดวางไว้สวยงามน่าทานไม่ต่างกับตอนที่คุณเพิ่งเข้ามา


อาหารในบุฟเฟ่ต์โรงแรมเหลือแล้วไปไหน ? คุณเคยสงสัยเหมือนกันไหม


ผู้เขียนเองก็อยากได้รับคำตอบที่น่าชื่นใจกว่านี้ แต่จากข้อมูลของ Winnow บริษัทสัญชาติอังกฤษที่ติดตามเรื่องขยะอาหารในธุรกิจอาหาร กล่าวว่าอาหารในบุฟเฟ่ต์โรงแรมกว่าครึ่งนั้นล้วนมีจุดจบอยู่ที่ถังขยะ โดยเฉพาะบุฟเฟ่ต์อาหารเช้าซึ่งมีเวลาจำกัดที่สั้น อาหารในบุฟเฟ่ต์นั้นต้องดูสด ดูใหม่ ดูเต็ม ดูน่ารับประทานอยู่เสมอ จึงเป็นเหตุผลที่ทางโรงแรมเองก็ไม่สามารถปล่อยให้อาหารในถาดหมด หรือเหลือน้อยก่อนเวลาได้ ผลสำรวจขององค์กร ReFED จากสหรัฐฯ กล่าวว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของขยะอาหารมาจากร้านที่มีบริการเสิร์ฟตนเองอย่างเช่นบุฟเฟ่ต์โรงแรม สัดส่วนเท่าๆ กันกับขยะอาหารที่มาจากครัวเรือนเลยทีเดียว ในขณะที่ในเอเชีย ซึ่งวัฒนธรรมการกินบุฟเฟ่ต์ได้รับความนิยม มีแนวโน้มที่สัดส่วนของขยะอาหารในบุฟเฟ่ต์จะมีสูงกว่านั้นขึ้นไปอีก โดยภัตตาคารแห่งหนึ่งอาจสร้างขยะอาหารได้ราว 400 กิโลกรัมต่อเดือนทีเดียว


ประเทศหนึ่งในเอเชียที่ประสบปัญหาขยะอาหารอย่างมากก็คือ สิงคโปร์ ในปี 2019 ผลสำรวจระบุว่าประเทศสิงคโปร์ผลิตขยะอาหารราวๆ 744 ล้านกิโลกรัม หรือราวๆ ข้าวสองถ้วยต่อคนต่อวัน! ปัญหาเรื่องขยะอาหารเป็นหนึ่งในวิกฤตการณ์ของประเทศสิงคโปร์ เพรสตัน หว่อง (Preston Wong) นักศึกษากฎหมายปีสุดท้ายที่ National University of Singapore ตระหนักถึงปัญหานี้ เขาและเพื่อนของเขา เคนเน็ธ แฮม(Kenneth Ham) จึงเกิดไอเดีย และร่วมกันพัฒนาแอพลิเคชั่นที่จะช่วยลดปัญหาขยะอาหารขึ้นมาตั้งแต่ปี 2017 มันมีชื่อว่า “Treatsure” เป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับจองซื้ออาหารส่วนเกินจากร้านต่างๆ


Treatsure มากับแนวคิดที่ว่า “treat food as treasure” หรือ “ปฏิบัติต่ออาหารราวกับขุมทรัพย์” ไอเดียที่น่าสนใจขึ้นไปอีกของหว่องและแฮมที่เปิดตัวขึ้นในปี 2018 ก็คือ ถ้าหากที่จริงแล้วอาหารที่เหลืออยู่ในช่วงท้ายของบุฟเฟ่ต์นั้น อย่างไรเสียก็ไม่มีใครกินและต้องถูกทิ้ง ทำไมไม่เปิดให้คนทั่วไปซื้อไปกินซะเลยล่ะ เพราะว่าทั้งหมดนั้นก็เป็นอาหารที่มีคุณภาพยังดีมากๆ และเป็นอาหารที่คนทั่วไปก็ต้องการกินด้วยซ้ำ Treatsure จึงนำเสนอโมเดลที่เรียกว่า “Buffet-in-a-box” หรือบุฟเฟ่ต์ใส่กล่อง ฟังก์ชั่นที่อนุญาตให้ผู้ใช้แอปสามารถซื้ออาหารจากไลน์บุฟเฟ่ต์โรงแรมที่เข้าร่วมกับทางแอป โดยจะซื้อได้ในช่วง 30-60 นาทีสุดท้ายก่อนที่จะหมดเวลาบุฟเฟ่ต์ ในราคาเพียง 10 ดอลล่าร์สิงคโปร์เท่านั้น !


วิธีใช้ก็คือ ผู้ใช้แอปสามารถเช็คในแอปได้ว่าบุฟเฟ่ต์ที่ไหน เปิดปิดเวลากี่โมงบ้าง หลังจากกดเลือกบุฟเฟ่ต์ อาหารจะถูกจองเอาไว้ในช่วงชั่วโมงสุดท้ายของบุฟเฟ่ต์ ผู้ใช้มีเวลาเดินทางไปที่ร้าน 25 นาที เพื่อยืนยันสิทธิ์ในการรับอาหาร หรืออีกทางเลือกก็คือสามารถ walk-in เพื่อใช้สิทธิ์ได้จากหน้าร้านเลย (แต่ก็อาจจะมีความเสี่ยงที่สิทธิ์จะเต็ม เพราะแต่ละร้านก็จะจำกัดจำนวนกล่องที่สามารถซื้อได้ต่อวัน (และต่อคน)) ไม่ว่าจะด้วยทางไหนก็ตาม เมื่อผู้ใช้แอปยืนยันสิทธิ์ที่หน้าร้านแล้ว ก็จะมี QR Code สำหรับจ่ายเงินให้สแกนเป็นรายบุคคล หลังจากนั้นผู้ใช้ก็จะได้รับ “Treatsure box” ไปใส่อาหารอะไรก็ได้ในไลน์บุฟเฟ่ต์ที่เหลืออยู่ (บางโรงแรมอาจสงวนสิทธิ์ในการตักอาหารที่ดิบ ซูชิ ชีสหรืออาหารอื่นๆ ใส่กล่องกลับ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย)

ปัจจุบันโรงแรมที่เป็นพันธมิตรกับบริการของ Treatsure นั้นมีอยู่หลายแห่งด้วยกัน โดยโรงแรมที่ให้ความสนใจเป็นที่แรกก็คือโรงแรม Grand Hyatt Singapore ซึ่งขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2010 ด้วยการบริหารทรัพยากรตั้งแต่ต้นทางด้วยการลดจำนวนซัพพลายเออร์วัตถุดิบ และเลือกสรรแหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืน มากไปกว่านั้นทางโรงแรมยังใช้ขยะอาหารกว่า 1000 กิโลกรัมในการทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้สำหรับต้นไม้ในพื้นที่โครงการ นอกเหนือจากโรงแรมดังกล่าวก็ยังมีอีกหลากหลายเครือโรงแรมที่เข้าร่วม เช่น Accor Singapore, Shangri-La Hotel Group เป็นต้น โดยภายในไม่กี่เดือนอาหารจากไลน์บุฟเฟ่ต์ของโรงแรมเหล่านี้ได้ถูกพิทักษ์ไปแล้วกว่าหลายพันกล่อง! โดยมีผู้ใช้ทั้งขาจร และขาประจำ เช่นคนที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ในย่านใกล้เคียงโรงแรม หรือลูกค้าที่ไม่มีเวลาทำอาหาร ก็สามารถซื้ออาหารจากบุฟเฟ่ต์ไปให้ตนเองและครอบครัวได้อิ่มอร่อยในราคาที่สมเหตุสมผลได้


วินทั้งกับทางโรงแรม วินกับลูกค้า แล้วก็วินกับโลกอีกด้วย !


เขียนโดย

นายกิตติคุณ​ ศิริสังข์สุชล​ (อาร์ต)​


เรียบเรียงโดย

นายศุภชัย​ มงคลนิตย์​ (เอ็กซ์)​


ภาพโดย

นายศุภชัย​ มงคลนิตย์​ (เอ็กซ์)​


ข้อมูลอ้างอิง






443 views0 comments

Comments


bottom of page