top of page
Writer's pictureSOS-Content Staffs

‘Kaiku - Living Color’ สีสันจากเศษผักและผลไม้ เพื่อความงดงามที่มาพร้อมความยั่งยืน



สมมุติว่าคุณกำลังอยู่ในคาบวิชาศิลปะ มือซ้ายคุณถือจานสีที่มีสีโปสเตอร์หลากหลายสี โจทย์วันนี้ของคุณคือวาด “แม่น้ำ” คุณกำลังจะระบายสีลงไปบนกระดาษผิวหยาบบนกระดานวาดรูปตรงหน้า ลองมาดูกันว่าความเป็นไปได้ว่าจะเป็นสีอะไรบ้าง ?


สีฟ้า ? เพราะว่าคุณเคยเห็นบ่อยๆ ว่าน้ำมักถูกระบายเป็นสีนี้

สีเขียว ? เพราะว่าคุณเคยเห็นว่าบางแหล่งน้ำมีแร่ธาตุ มีพืชพรรณ

สีส้ม ? เพราะคุณเคยเห็นว่าน้ำจริงๆ แล้วไม่มีสี มันสะท้อนแสงอาทิตย์ต่างหาก


คุณจะแต่งแต้มกี่สีลงบนกระดาษก็ตาม แต่เมื่อคุณระบายสีจนเสร็จแล้วจุ่มพู่กันลงน้ำสำหรับล้างพู่กัน

สีทุกสีก็จะผสมกันจนกลายเป็นสีเทาหม่นข้น และตอนนั้นเองที่คุณได้รู้ว่านี่ก็เป็นอีกหนึ่งความเป็นไปได้ของสีแม่น้ำ


“ทุกสีผสมกันจนกลายเป็นสีเทาหม่นข้น”


สิ่งนี้เกิดขึ้นจริงไม่ใช่แค่ในแก้วน้ำล้างพู่กัน แต่เป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติในเอเชียใต้ใกล้ตัวเรานี่เอง


อุตสาหกรรมการผลิตและย้อมสีสังเคราะห์นั้น เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงที่สุดในศตวรรษนี้ ซึ่งสีสังเคราะห์ในปัจจุบันนั้นเป็นผลิตผลจากปิโตรเคมี และมีกระบวนการผลิตที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ปล่อยแก๊สที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและเป็นมลภาวะ กระบวนการจากโรงงานย้อมสี โดยเฉพาะผ้า เป็นกระบวนการที่ใช้น้ำอย่างสิ้นเปลืองและทำลายแหล่งน้ำธรรมชาติ เราสูญเสียน้ำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นราว 21 ล้านล้านแกลลอนต่อปี หรือจำนวนพอจะเติมน้ำในสระนำ้โอลิมปิกได้ 37 ล้านสระทีเดียว ในบังคลาเทศ อินเดีย หรือแม้กระทั่งจีน ที่เป็นกำลังผลิตหลักของเสื้อผ้า เราอาจเดาสีที่เป็นเทรนด์ในซีซั่นต่อไปได้จากการดูสีแม่น้ำในช่วงนั้นด้วยซ้ำไป น้ำสีข้นคลั่กนั้นส่งผลเสียต่อทัศนียภาพ ต่อสัตว์น้ำ และต่อสุขภาพของคนในชุมชนใกล้เคียงจนบางส่วนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจไม่น้อย เพราะว่าสีสังเคราะห์เพิ่งมามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมต่างๆ บนโลกนี้เมื่อราวๆ กลางศตวรรษที่ 18 นี้เอง แต่ปัจจุบันกลับมีสีสังเคราะห์ถูกใช้โดยเฉพาะในวงการสิ่งทอถึง 1.3 ล้านตัน ฉะนั้นจึงนับเป็นร้อยกว่าปีเท่านั้นเองที่แหล่งน้ำเหล่านี้ถูกรุกราน และพลังงานถ่านหินที่สร้างมลภาวะถูกขุด เพื่อเสื้อผ้าสีสวยงามราคาถูก ลิปสติกสักแท่ง หรือชุดสีไม้ยี่สิบสี่สีสำหรับคุณหนูๆ ทั้งหลาย


แต่ในเมื่อวัฒนธรรมของการผลิตสีจากธรรมชาติยังไม่ได้หายไปจากเรานานขนาดนั้น นิโคล สเจิร์นสเวิร์ด (Nicole Stjernsward) นักศึกษาของมหาวิทยาลัย Imperial College London จึงมองเห็นความเป็นไปได้ในความจริงข้อนี้ เธอจึงได้คิดค้นกระบวนการสร้างเม็ดสีจากเศษผักและผลไม้ที่เหลือ เรียกว่า “Kaiku - Living Color” เพื่อเป็นการรื้อฟื้นการผลิตสีอย่างที่ยั่งยืนมาใช้ในปัจจุบัน


ไอเดียของ Kaiku เกิดขึ้นจากตอนที่นิโคลค้นคว้าข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์เหล่าศิลปิน และได้พบกับเดวิด เพกกี้ (David Peggie) นักเคมีที่ทำงานให้กับ London’s National Gallery เพื่อทำความเข้าใจเรื่องที่มาของสีที่ถูกใช้โดยศิลปินในอดีต และพบว่าแต่เดิมแล้วสีผลิตจากวัสดุธรรมชาติ เช่น สีน้ำเงินจากไพฑูรย์ สีเหลืองจากดินเหลือง หรือสีแดงจากปีกแมลงด้วงบด และที่จริงแล้วผักอย่างหัวหอมก็ยังเคยถูกใช้เพื่อย้อมสีผ้าอย่างแพร่หลายอีกด้วย ก่อนที่พัฒนาการทางด้านปิโตรเคมีจะพรากพวกเราไปจากกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้


แล้ว Kaiku ทำงานยังไง ? หลังจากที่ผักและผลไม้ของเราถูกปอกเปลือกหรือตัดแต่งเพื่อบริโภคแล้ว แทนที่จะทิ้งผิวและเศษของมัน เราจะเอามันมาต้มในน้ำ จนกระทั่งได้น้ำสีมา เติมลงในภาชนะของ Kaiku จากนั้นใช้แรงดันและความร้อนเดินทางผ่านสายยางไปสู่ภาชนะแก้วสูญญากาศ ไอน้ำที่ผลิตตัวขึ้นมาจะร้อนมากจนกลายเป็นไอในทันที ก่อเกิดเป็นผงสีแห้งๆ ตกลงสู่ภาชนะดังในคลิปวิดีโอด้านล่าง



Source: Vimeo.com


เพราะว่าเม็ดสีที่ได้มีลักษณะเป็นผง หมายความว่าเราสามารถนำไปใส่ในสีชนิดใดก็ได้ อีกทั้งผู้คิดค้นได้นำไปทดลองทำเป็นสีหลายประเภท เช่น สีน้ำ หมึก และสีเทมเพอรา (สีฝุ่นที่มักใช้ไข่แดงเป็นตัวทำผสม) และใช้บนหลากหลายวัสดุ เช่น กระดาษ ผ้า ปูนปลาสเตอร์ ไม้วีเนียร์ ตลอดไปจนไบโอพลาสติก ทั้งยังเห็นความเป็นไปได้ที่จะใช้กับวัสดุชีวภาพ หมึกปริ้นเตอร์ หมึกปากกา และแม้กระทั่งทำเป็นเครื่องสำอางอีกด้วย


Kaiku หมายถึง สะท้อนดัง (echo) ในภาษาฟินนิช ภาษาของคุณยายของเธอ “ชื่อของมันบ่งบอกถึงคุณค่าของต้นกำเนิดที่ปรากฏชัดในตัวเม็ดสี ซึ่งในสีแบบทั่วไปคุณค่าและเรื่องราวตรงนี้มักจะถูกมองข้ามไป” สเจิร์นสเวิร์ดให้สัมภาษณ์กับ Dezeen นิตยสารการสถาปัตย์และการออกแบบระดับโลกเช่นนั้น ซึ่งในปี 2019 ที่เธอทำโปรเจกต์จบการศึกษาชิ้นนี้ ธีมของ Sustainable material (วัสดุเพื่อความยั่งยืน) ได้รับความนิยมมาก มีโปรเจกต์ที่น่าสนใจตั้งแต่ระบบโรงเพาะเห็ดจากกากกาแฟ ไปจนถึงตัวกรองน้ำมันเหลือใช้จากการทำอาหารเพื่อมาทำเป็นสบู่เลยทีเดียว


บทความโดย

คุณกิตติคุณ ศิริสังข์สุชล (พี่อาร์ต)


เรียบเรียงโดย

คุณนันทพร ตีระพงศ์ไพบูลย์ (พี่พลอย)


ภาพโดย

คุณศุภชัย มงคลนิตย์ (พี่เอ็กซ์)



แหล่งที่มา:


95 views0 comments

Comments


bottom of page