top of page
Writer's pictureSOS-Content Staffs

From Food Wastage to Food Inequity in Thailand จากขยะอาหารสู่การเหลื่อมล้ำทางอาหารในประเทศไทย

Updated: Mar 5, 2021


เป็นที่ทราบๆกันอยู่ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเมื่อเทียบกับหลายๆประเทศทั่วโลกความแตกต่างของรายได้จากรายงานของ World Economic Forum (2018) ชี้ว่าระดับ ความไม่เสมอภาคของไทยสูงเป็นอันดับที่ 25 จาก 107 ประเทศทั่วโลกได้ โดยเฉลี่ยระหว่างกลุ่มประชากรหัวแถวที่มีรายได้สูงที่สุดร้อยละ 20 และกลุ่มประชากรท้ายแถวที่มีรายได้ต่ำที่สุดร้อยละ 20 สูงถึง 10.3 เท่าในปี 2015 และกลุ่มรายได้สูงสุดมีรายได้รวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด หากพิจารณาในมิติของจำนวนคนจนพบว่า กว่าร้อยละ 50 ของคนจนทั้งประเทศอยู่ใน ภาคเกษตร ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นมากนัก นอกจากนี้ยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่มีหนี้สิน จึงอาจจะไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ "รวยกระจุก จนกระจาย"


การที่สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงการขาดโอกาสเชิงเศรษฐกิจสังคมและการเข้าไม่ถึงทรัพยากรของประชาชนในบางกลุ่มบางพื้นที่ รวมทั้งความไม่เป็นธรรมด้านสิทธิและอํานาจต่อรองของประชาชนของกลุ่มที่ด้อยโอกาส และได้ส่งผลต่อการแสวงหารายได้เพื่อการประกอบอาชีพ ความยากจนเป็นสาเหตุหลักของความหิวโหย เพราะคนยากจนมีค่าใช้จ่ายหลักเป็นค่าใช้จ่ายในสินค้าจำเป็น เช่น อาหารและที่อยู่อาศัย ซึ่งหมายความว่าครัวเรือนรายได้ต่ำมีความเปราะบางสูง หากสูญเสียรายได้ ก็ต้องกู้ยืมหรือลดการบริโภคสินค้าที่จำเป็น ทางด้านเศรษฐกิจมีผลทำให้กำลังซื้อและกลไกอุปสงค์อุปทาน(Demand-Supply)ในตลาดเป็นไปในทิศทางที่ไม่เป็นธรรม การกระจายรายได้สู่สังคมเมืองเป็นหลัก งบประมาณกระจายสู่เมืองมากกว่าชนบท ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา ทั้งการอพยพแรงงานเข้าสู่เมืองและปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมในเมือง ปัญหาคนไร้ที่พึ่ง คนเร่ร่อน รวมทั้งปัญหาขยะล้นเมือง ความเหลื่อมล้ำได้คืบคลานและแทรกซึมในสังคมไทยในทุกด้านไม่เว้นแม้แต่ "ความเหลื่อมล้ำทางอาหาร (Food Inequity)"


อย่างไรเรียกว่าไม่เหลื่อมล้ำทางอาหาร? หรือกล่าวอีกนัยคือความเสมอภาคทางอาหาร (Food Equity)คืออะไร? ความเสมอภาคทางอาหารคือการที่ทุกคนมีสิทธิและความสามารถในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและดีต่อสุขภาพ ทุกคนสมควรได้รับอาหารที่ดีมีคุณภาพ เพียงเพราะว่าเราจนหรืออยู่ต่างจังหวัดไม่ได้หมายความว่าเราจะบริโภคอาหารที่มีคุณภาพและดีต่อสุขภาพไม่ได้ ความเหลื่อมล้ำทางอาหารเป็นปัญหาระดับโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย ยังมีคนที่ยังมีอาหารไม่พอกินหรือไม่บริโภคอาหารหลากหลายเพียงพอต่อความต้องการอาหารตามหลักโภชนาการในแต่ละวัน ดังนั้นความเหลื่อมล้ำทางอาหารก็คือความไม่เท่าเทียมในการกระจายอาหารที่มีคุณภาพในเมืองและในชุมชนในประเทศนั้น


สาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำทางอาหารคือความยากจน และการขาดความรู้ ความไม่เท่าเทียมทางสังคม การกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม การขาดอำนาจต่อรองทางการเมือง และการขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร เช่น ที่ดิน แหล่งน้ำ และเงินทุน ทำให้เกษตรกรหรือผู้มีรายได้ต่ำ ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ เช่น โปรตีนที่ได้จากสัตว์ หรือวิตามินที่ได้จากผักและผลไม้ ทำให้ไม่เกิดความหลากหลายในอาหารที่บริโภค ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา แม้แต่โรคอ้วนก็มีความเหลื่อมล้ำ โรคอ้วนเป็นปัญหาของคนรวยในประเทศยากจน ขณะที่เป็นปัญหาของคนจนในประเทศร่ำรวย ในประเทศไทยคนรวยมีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเกิดขึ้นในคนรวยมากกว่าคนจนถึง 1.5 เท่า สำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมองตีบ หรือแม้แต่โรคมะเร็ง คนจนมีความเสี่ยงสูงกว่า เนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น การขาดความรู้ในการบริโภค เช่น การดื่มสุราและสูบบุหรี่ รวมถึงการเข้าไม่ถึงอาหารสุขภาพ


แม้ประเทศไทยจะไม่ขาดแคลนอาหาร เพราะประเทศเราผลิตอาหารได้เกินปริมาณการบริโภคในประเทศและเหลือส่งออกอาหารทั้งผัก ผลไม้ และสัตว์ปีกและอาหารทะเลสู่ตลาดโลกถึงกว่า 10% ของปริมาณอาหารที่ผลิตได้ทั้งหมด แต่เป็นที่น่าเสียดายที่อาหารที่ผลิตได้ภายในประเทศนี้ได้สูญเสียไปกับการเป็น "ขยะอาหาร (Food Waste)" องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานว่าโลกของเรามีผู้ที่ตกอยู่ในความหิวโหยถึงเกือบ 1,000 ล้านคนขณะที่อาหารที่ผลิตได้แต่สูญเสียไปอย่างสูญเปล่า เช่น จากการถูกทิ้งเป็นขยะ กล่าวกันว่าสามารถเลี้ยงคนหิวโหยได้ทั้งโลกทีเดียว


ขยะอาหารเกิดได้อย่างไร? ในร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือในครัวเรือนมีการซื้อเกินความจำเป็นในการบริโภค อาจจะเกิดจากการวางแผนผิดพลาด หรือการขาดการวางแผน นอกจากนี้ FAO ยังได้รายงานถึงปรากฏการณ์การเลือกซื้อผักและผลไม้ในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่คำนึงเพียงเพราะรูปลักษณ์ ขนาด สี และรูปร่างภายนอก เช่น มีขยะอาหารที่เกิดจากการทิ้งของผักและผลไม้ที่มีรูปร่างคดงอ เช่น แคร์รอท หรือแตงกวา แม้จะมีคุณค่าทางโภชนาการไม่น้อยกว่าผักและผลไม้ที่มีขนาดตรง นอกจากนี้เรายังเห็นการกินเหลือจากอาหารบุฟเฟ่ต์เป็นจำนวนมากในโรงแรม หรือแม้แต่การกินอาหารเหลือในจานในครัวเรือน เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุการเกิดขยะอาหารที่แก้ได้ด้วยการตระหนักรู้และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม


แล้วขยะอาหารทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางอาหารได้อย่างไร? เนื่องจากขยะอาหารมักเกิดจากคนที่มีรายได้สูงหรือคนรวย กินทิ้งกินขว้าง กินเหลือทั้ง เมื่อมีขยะอาหารทำให้มีความสูญเสียอาหารไปโดยไร้ค่า อาหารที่สูญเสียไปมีต้นทุนและมีราคา มีอุปสงค์(Demand)ในการซื้ออาหารเพิ่ม(แม้จะกลับกลายเป็นขยะอาหารที่สูญเปล่าในที่สุด) กลไกทางตลาดทำให้ราคาพืชผัก ผลไม้ และอาหารจากสัตว์มีราคาสูงขึ้น และราคาที่สูงขึ้นนี้เองทำให้คนยากจนไม่สามารถซื้อหามารับประทานได้ FAO ได้คำนวณว่าอาหารที่มีคุณภาพมีราคาแพงกว่าอาหารประเภทแป้งเป็นหลักถึง 5 เท่า และคนรายได้ต่ำมีกำลังจับจ่ายได้จำกัด ดังนั้นหากมีการลดปริมาณขยะอาหาร คือรับประทานอาหารที่มีคุณภาพในปริมาณที่เพียงพอแต่พอประมาณ ไม่กินทิ้งกินขว้าง อุปสงค์ของราคาอาหารก็จะลดลง ทำให้คนรายได้น้อยสามารถเข้าถึงอาหารได้


การลดขยะอาหารจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางอาหาร มูลนิธิ Thai Scholars of Sustenance (Thai SOS) หรือมูลนิธิรักษ์อาหาร ก่อตั้งขึ้นโดยนักเดินทางชาวเดนมาร์กผู้มาเข้าพักที่โรงแรมในประเทศไทย แล้วพบว่าอาหารเหลือทิ้งจากการให้บริการแขกในโรงแรมที่ถูกนำไปทิ้งจำนวนมากมายนั้นเป็นของที่มีคุณภาพดีมากและยังกินได้


โครงการ Food Rescue จึงถือกำเนิดขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะสร้างระบบการกระจายอาหารส่วนเกิน โดยรับบริจาคอาหารส่วนเกินที่เหลือจากการบริโภคจากโรงแรม ภัตตาคาร หรือการขายจากร้านค้าปลีกที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำอาหารส่วนเกินเหล่านั้นส่งต่อไปยังผู้ที่ต้องการแต่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ ตามโรงเรียน ชุมชน สถานสงเคราะห์ โครงการ Food Rescue สามารถต่อชีวิตอาหาร โดยส่งต่อไปยังผู้รับบริจาคอาหาร ได้ 1 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณอาหารส่วนเกินทั้งหมดในกรุงเทพฯ Food Rescue จึงเป็นเหมือนตัวกลางในการส่งต่อวัตถุดิบอาหารคุณภาพเยี่ยมที่เป็นส่วนเกินเหลือทิ้งอยู่แล้วไปสู่ผู้ที่ต้องการ ซึ่งถ้าโครงการดำเนินไปและขยายเป็นโครงข่ายที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต จะสามารถส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการกินของคนในสถานสงเคราะห์และลดความเหลื่อมล้ำทางอาหารในประเทศไทยได้ ด้วยระบบอาหารหมุนเวียนที่แข็งแรงและมีประสิทธิภาพ ส่วนเศษอาหารที่เหลือ ทางมูลนิธิมีโครงการ Compost Program ซึ่งเป็นการนำขยะอาหารไปทำปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรชาวไร่


เรามาช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำทางอาหาร ด้วยการลดขยะอาหารเริ่มจากในครัวเรือนและพฤติกรรมการบริโภคอาหารของเรากัน เพื่อประเทศไทยจะได้เป็นประเทศที่น่าอยู่ มีระบบอาหารที่มั่นคง ยั่งยืน และปราศจากความเหลื่อมล้ำและเป็นธรรมมากขึ้น


หากท่านสนใจเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมของ Thai Scholars of Sustenance (Thai SOS) หรือต้องการบริจาคเพื่อสนับการทำงานเพื่อลดขยะอาหารสามารถติดตามได้ที่www.scholarsofsustenance.org โทร: 062-675-0004



แหล่งอ้างอิง

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (2014). รายงานสุขภาพคนไทย "ความอ้วนที่เหลื่อมล้ำ".


ธนาคารแห่งประเทศไทย. (ธันวาคม 2562). "ภาพรวมความเหลื่อมล้ำของไทยในศตวรรษที่ 21".


อติวิชญ์ แสงสุวรรณ. (n.d.) กลุ่มงานบริการวิชาการ 2. สํานักวิชาการ. "ความเหลื่อมล้ำ" สืบค้น 4ธันวาคม 2563 จาก https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2558/hi2558-052.pdf.


Food and Agriculture Organization (FAO). (2017). "Reducing Food Loss and Waste" from http://www.fao.org/3/a-i7930e.pdf


Food and Agriculture Organization (FAO). (2020). Annual reports, "State of Food Insecurity and Nutrition". from http://www.fao.org/3/ca9692en/CA9692EN.pdf.


World Economic Forum. (2018). “The Inclusive Development Index 2018”.


เขียนโดย:

คุณพรรณทิพา พิชัยลักษณ์ อาสาสมัคร content writer



เรียบเรียงโดย:

นางสาวนันทพร ตีระพงศ์ไพบูลย์ (พลอย)

นายศุภชัย มงคลนิตย์ (เอ็กซ์)

นางสาวอารยา โช (นีน่า)


ภาพโดย

นางสาวกัญญพัชร ชุ่มมะโน (เพลิน)

1,126 views0 comments

Comments


bottom of page