top of page

“อิตาดาคิมัส” (いただきます) คำสั้นๆ ที่เป็นมากกว่าแค่วัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น



เราทุกคนคงเคยเห็นภาพบรรยากาศบนโต๊ะอาหารของชาวญี่ปุ่นที่ทุกคนจะพนมมือพร้อมกันและพูดว่า “อิตาดาคิมัส” (いただきます) ก่อนรับประทานอาหาร เพื่อเป็นการแสดงถึงความขอบคุณต่ออาหาร ถ้าแปลแบบตรงๆก็คือ “ขอรับประทานแล้วนะ” ดูเผินๆการกระทำนี้อาจจะดูเหมือนแค่เป็นวัฒนธรรมธรรมดาๆ ไม่ต่างอะไรกับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างการสวดมนต์ก่อนรับประทานอาหาร แต่จริงๆแล้ว คำว่า “อิตาดาคิมัส” นั้นมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่าแค่การขอบคุณอาหาร


“อิตาดาคิมัส” นั้นมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธในประเทศญี่ปุ่น ที่เคารพและให้ความสำคัญกับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก เพราะฉะนั้นการกล่าวคำว่า “อิตาดาคิมัส” นั้นเป็นการขอบคุณความเสียสละของสัตว์ และพืชต่างๆเพื่อมาเป็นวัตถุดิบให้กับอาหารของเรา และเป็นการขออนุญาตรับอาหารเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา นอกจากนี้คำว่า “อิตาดาคิมัส” นี้ ยังรวมไปถึงการขอบคุณบุคคลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการปรุงอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเชฟ คนเสิร์ฟอาหาร หรือคนปลูกผัก เป็นต้น

เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว คนญี่ปุ่นมักจะพูดคำว่า “โกะจิโซซามะ เดชิตะ” (ごちそうさまでした) แปลตรงๆว่า “ขอบคุณสำหรับอาหารมื้อนี้ หรือขอบคุณที่เลี้ยง” นั่นเอง นอกจากนี้คำๆนี้ยังเป็นการสื่อสารกับคนที่ปรุงอาหารให้เราว่าอาหารอร่อยอีกด้วย


คำสั้นๆเพียงสองคำนี้ แสดงให้เห็นถึงความหมายอันลึกซึ้งที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของอาหารทุกมื้อ คนญี่ปุ่นจึงมักจะทานอาหารให้หมดจาน เพื่อแสดงความขอบคุณวัตถุดิบต่างๆ และแรงกายแรงใจของคนปรุงอาหารในแต่ละมื้อของเรา วัฒนธรรมนี้นอกจากจะเป็นการแสดงความซาบซึ้งต่อสิ่งรอบข้างแล้ว ยังช่วยลดขยะอาหารอีกด้วย


ขยะอาหารนอกจากจะเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคแล้ว ยังไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะขยะอาหารมักจะถูกกำจัดอย่างผิดวิธีโดยการฝังกลบ วิธีนี้ทำให้เพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการหมักของขยะอินทรีย์ที่มีการคายก๊าซมีเทนออกมา นอกจากนี้ขยะอาหารยังก่อให้เกิดปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวน และเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคมากมายอีกด้วย


เพียงแค่วัฒนธรรมเล็กๆวัฒนธรรมเดียว สามารถช่วยลดปัญหาขยะ และช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย


เขียนโดย: น.ส.บุญญพร ชินธรรมมิตร์

ภาพโดย: น.ส.บุญญพร ชินธรรมมิตร์ และน.ส.กัญญพัชร ชุ่มมะโน

เรียบเรียงโดย: นายศุภชัย มงคลนิตย์


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

23,108 views0 comments

Comments


bottom of page