ลิ้งค์เว็บไซต์: Too Good To Go
หลายคนคงเคยไปเดินเลือกซื้ออาหารตามห้างสรรพสินค้าหลังเวลาสี่ทุ่มกันใช่ไหมคะ หากสังเกตดีๆ ก็จะพบว่า ราคาอาหารจะถูกลงกว่าครึ่งนึงของราคาเต็มเลยทีเดียว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอาหารเหล่านี้เป็นอาหารป้ายเหลืองที่ขายโละสต๊อกสินค้านั่นเอง และที่ติดสีเหลืองก็เพื่อให้ง่ายต่อการมองเห็นของลูกค้า
แม้ว่ากลยุทธ์อาหารป้ายเหลืองจะช่วยให้ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ระบายอาหารที่ขายไม่หมดในแต่ละวันออกไปได้บ้าง แต่ก็ยังคงมีอาหารป้ายเหลืองที่เหลือทิ้งในแต่ละวันอยู่ดี นอกจากนี้ทุกคนคงไม่มีเวลาไปเดินเลือกซื้อของตามห้างสรรพสินค้าได้ในทุกๆวัน กลยุทธ์อาหารป้ายเหลืองจึงอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดในการระบายสินค้าอาหารในวินาทีสุดท้าย “เพื่อไม่ให้อาหารกลายเป็นขยะอาหารอีกต่อไป”
เพื่อไม่ให้อาหารป้ายเหลืองเหล่านี้ถูกทิ้งขว้างอย่างน่าเสียดาย จึงมีบุคคลผู้หนึ่งที่คิดค้นวิธีการกระจายอาหารป้ายเหลืองเหล่านี้ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในจำนวนที่มากขึ้นโดยใช้แอปพลิเคชันเป็นเครื่องมือ ซึ่งวิธีการดังกล่าวนอกจากจะช่วยป้องกันอาหารเหล่านี้ไม่ให้กลายเป็นขยะที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยกระจายอาหารคุณภาพดีราคาถูกไปยังผู้ที่ต้องการอาหารได้อย่างถูกที่ถูกเวลา อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงกลุ่มบุคคลได้เป็นจำนวนมากอีกด้วย
แอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า “Too good to go” ถูกคิดค้นขึ้นในประเทศอังกฤษโดยคริส วิลสัน และเจมี่ ครัมมี่ ซึ่งได้เริ่มต้นทำการติดต่อกับร้านอาหาร 95 แห่งในกรุงลอนดอน เพื่อนำอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้วแต่ขายไม่หมดในแต่ละวันมาแพ็กขายใหม่ ในช่วงเริ่มแรก อาหารประเภทเบเกอรี่ตอบโจทย์มากที่สุด และทำการพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นอาหารที่หลากหลายมากขึ้น โดยจุดมุ่งหมายสูงสุดคือต้องการลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งในแต่ละวัน โดยแอปพลิเคชัน Too good to go เป็นการบริการเลือกซื้ออาหารแบบระบบ Take away คือกดสั่งและจ่ายเงินผ่านหน้าแอปพลิเคชั่น โดยให้ผู้บริโภคไปรับอาหารเองที่ร้าน
ส่วนอาหารที่ได้จะมีลักษณะหน้าตาแบบไหนนั้น ระบบของแอปพลิเคชันเองได้นิยามลักษณะของอาหารไว้ว่า " magic box" ซึ่งหมายความว่า ระบบจะเลือกสุ่มอาหารให้เรา และเราจะไม่สามารถรู้ได้ว่าจะได้รับอาหารประเภทใดบ้าง (เป็นระบบที่น่าลุ้นน่าตื่นเต้นดีทีเดียว) ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถเตรียมถุงใบใหญ่ไปรับอาหารที่ทางร้านจัดเตรียมไว้ให้ได้เลย หรือหากลืมนำไป ทางร้านก็จัดเตรียมถุงกระดาษไว้ให้ด้วยเช่นกัน และอาหารที่ได้ก็จะคลอบคลุมไปตั้งแต่เครื่องดื่ม ซึ่งอาจจะเป็นน้ำผลไม้ โยเกิร์ต สลัด ขนมหวาน ชีส อาหารจานด่วนแบบที่นำไปอุ่นกับไมโครเวฟทานได้เลย โดยที่อาหารจะมีอายุค่อนข้างสั้น คือ สามารถรับประทานได้ภายใน 1-2 วันเท่านั้น
ในด้านของระยะเวลาในการเลือกรับสินค้า ทางแอปพลิเคชันจะมีกำหนดระยะเวลาในการไปรับสินค้าอยู่ที่ช่วงเวลาตั้งแต่เช้าไปจนถึงเที่ยงคืนโดยจะแบ่งหมวดหมู่ดังนี้
· ช่วงเวลาอาหารเช้า อาหารส่วนใหญ่จะเป็น ขนมปังและอาหารจำพวกเบเกอรี่ ทั้งจากร้านค้าและโรงแรม
· ช่วงบ่าย จะเป็นเซตของกล่องอาหารเที่ยง
· ช่วงเย็นจะเป็นอาหารที่สามารถนำมาทำอาหารประกอบเป็นมื้อเย็นได้
· ช่วงดึกที่กินเวลายาวไปเกือบๆจะเที่ยงคืนจะเป็นอาหารจำพวกพิซซ่า
ทั้งนี้เพื่อความสะดวกสบายของผู้บริโภค ทางแอปพลิเคชันได้แสดงผลระยะทางจากที่อยู่ปัจจุบันของผู้บริโภคกับทางร้านค้า เพื่อเป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจในการกดรับอาหาร โดยแอปพลิเคชันจะแสดงผลร้านค้าจากระยะทางที่ใกล้ที่สุดก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อสะดวกในการไปรับสินค้า หลังจากกดจบขั้นตอนรับสินค้าผ่านทางหน้าแอปพลิเคชันแล้ว ทางแอปพลิเคชันจะส่งข้อมูลกลับไปให้ทางอีเมลอีกด้วย โดยจะอธิบายเพิ่มเติมว่าการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวส่งผลต่อโลกใบนี้อย่างไรบ้าง และเรามีส่วนช่วยลดจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ไปเท่าไหร่แล้วบ้าง
หากใครที่ตอนนี้อาศัยอยู่ต่างประเทศ จะทดลองใช้แอปพลิเคชันนี้ดู โดยทำการดาวน์โหลดแอป Too good to go ผ่านระบบ ios และ android ได้เลย ส่วนใครที่อยู่ประเทศไทยแล้วอยากจะลองดูโครงการคล้ายๆแบบนี้ ก็ลองโหลดแอปพลิเคชันของไทย ชื่อ Yindii ได้เช่นกัน แต่เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพมหานครเดินทางไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่นัก แอปพลิเคชัน Yindii จึงมีระบบบริการจัดส่งโดยรถมอเตอร์ไซค์แทน ส่วนอาหารที่ได้รับก็จะเป็นอาหารจากร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่ต่างๆ เหมือนกันค่ะ
***มาเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นผู้กอบกู้อาหารไปด้วยกันนะคะ ใครได้อาหารเป็นอะไรบ้างก็มาบอกเล่าให้ฟังกันบ้างเนอะ
เขียนโดย:
คุณอัจฉราพรรณ พาลี (พี่แครอท) อาสาสมัคร content writer
เรียบเรียงโดย:
นางสาวนันทพร ตีระพงศ์ไพบูลย์ (พลอย)
นายศุภชัย มงคลนิตย์ (เอ็กซ์)
ภาพโดย
นางสาวกัญญพัชร ชุ่มมะโน (เพลิน)
Comments