top of page
Writer's pictureSOS-Content Staffs

การลดขยะอาหารในชีวิตประจำวัน : ตอนที่ 3 (Food Waste Reduction in Daily Life : Part III)

Updated: May 7, 2021



บทความเรื่อง “การลดขยะอาหารในชีวิตประจำวัน : ตอนที่ 3” จะขอแนะนำอีก 5 ขั้นตอนง่าย ๆ ในการลดขยะอาหารซึ่งทุกคนสามารถทำได้ต่อเนื่องจาก ตอนที่ 1 และ 2 ที่เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ สำหรับใครที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปอ่านตอนที่ 1 และ2 ได้เลยนะคะ ในส่วนบทความตอนที่ 3 นี้จะขอแนะนำเพิ่มเติมถึงเทคนิคในการลดขยะอาหารอีก 5 เทคนิค ดังนี้


11. Make homemade stock ทำโฮมเมดสต๊อก ทำน้ำซุปสต๊อกเองที่บ้าน


อาหารเหลือบางชนิด เช่น ผัก กระดูกหมูและกระดูกไก่ สามารถนำมาเตรียมเป็นโฮมเมดสต๊อก ซึ่งมีขั้นตอนการเตรียมที่ไม่ยุ่งยากและสามารถเก็บไว้รับประทานได้เป็นระยะเวลานาน ขั้นตอนการเตรียมโฮมเมดสต๊อกอย่างง่าย เริ่มโดยการหั่นผักหรือส่วนประกอบอื่นให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ นำไปผัดกับน้ำมันจนผิวด้านนอกของผักมีสีน้ำตาลอ่อนๆ ปรุงรสด้วยเกลือเล็กน้อย เติมน้ำสะอาด ใส่สมุนไพรที่ชอบ เช่น ใบไทม์ ใบกระวานและเม็ดพริกไทยดำลงในน้ำซุป นำไปต้มจนเดือด ลดความร้อนลง เคี่ยวประมาณครึ่งชั่วโมง คอยช้อนฟองออกเป็นระยะ ๆ แล้วนำไปกรอง เพียงเท่านี้ก็จะได้น้ำสต๊อกที่สามารถนำไปประกอบอาหาร สามารถเก็บน้ำสต๊อกไว้ในตู้เย็น 1 สัปดาห์ หรือแช่แข็งได้ 3 เดือน


12. Perk up your water เพิ่มรสชาติน้ำดื่ม


ในแต่ละวันเราควรดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อย 8 แก้วเพื่อสุขภาพที่ดี แต่หลายคนก็ไม่สามารถดื่มน้ำให้ครบปริมาณดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่ชอบรสชาติของน้ำเปล่า การเติมเปลือกผลไม้ชิ้นบาง ๆ เช่น ผลไม้ตระกูลส้ม เบอร์รี แอปเปิ้ล หรือแตงกวา ช่วยให้รสชาติของน้ำดีขึ้น ทำให้ดื่มง่ายขึ้นและช่วยลดขยะอาหารด้วยอีกทางหนึ่ง


13. Keep your serving sizes in check หมั่นตรวจสอบปริมาณการบริโภค


การรับประทานอาหารมากเกินความต้องการของร่างกายเป็นปัญหาสำหรับคนจำนวนมาก เนื่องจากการติดในรสชาติความอร่อยของอาหาร การเข้าสังคม หรือการรับประทานอาหารประเภทบุฟเฟ่ ในการรับประทานอาหารมื้อถัดไปควรพิจารณาถึงปริมาณที่เหมาะสมสำหรับร่างกาย ไม่ควรมากเกินความจำเป็นเพื่อไม่เพิ่มน้ำหนักส่วนเกินของร่างกายและเพิ่มปริมาณขยะอาหาร



14. Get friendly with your freezer เป็นมิตรกับตู้เย็น


การเก็บอาหารในตู้เย็นเป็นวิธีการถนอมอาหารที่ง่ายและปลอดภัย สามารถเก็บได้ทั้งอาหารสดและอาหารที่เหลือจากมื้อต่าง ๆ ในแต่ละวัน การเก็บอาหารในตู้เย็นควรจัดวางให้เป็นระเบียบและวางให้ถูกตำแหน่งในตู้เย็น เช่น ช่องแช่แข็งเหมาะสมสำหรับการเก็บน้ำแข็ง ผลไม้แช่แข็ง เนื้อสดหรือน้ำซุป ช่องหลังประตูตู้เย็นเหมาะสมสำหรับการเก็บอาหารที่ไม่บูดเน่าง่าย เช่น น้ำผลไม้หรือเครื่องปรุง ช่องด้านบนเหมาะสมสำหรับการเก็บ ผลไม้ตระกูลเบอร์รีหรือผลิตภัณฑ์ไส้กรอก ชั้นวางด้านล่างเหมาะสมสำหรับการเก็บโยเกิร์ต ชีสหรือนมสด ช่องแช่ผักเหมาะสมสำหรับการเก็บผักและผลไม้ แต่ผักหรือผลไม้บางชนิดก็ไม่จำเป็นต้องเก็บในตู้เย็น เช่น หัวหอม กระเทียมหรือมันฝรั่ง เป็นต้น ก่อนการนำอาหารเก็บในตู้เย็นควรบรรจุอาหารใส่ถุงพลาสติกหรือภาชนะปิดสนิท การเก็บอาหารในตู้เย็นให้เหมาะสมตามคำแนะนำข้างต้นจะช่วยยืดอายุอาหารและลดปริมาณขยะอาหาร


15. Understand expiration dates ทำความเข้าใจวันหมดอายุ


ในปัจจุบันฉลากบรรจุภัณฑ์อาหารจะมีการระบุวันที่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น “Sell by”, “Expire on”, “Best by” หรือ “Use by” ข้อความเหล่านี้มีความหมายแตกต่างกัน ในฐานะผู้บริโภคเราควรทำความเข้าใจเพื่อป้องกันการทิ้งอาหารโดยไม่จำเป็น เช่น

“Sell by” หมายถึงวันที่ระบุให้ร้านค้าทราบว่าควรจะวางขายสินค้าถึงวันที่เท่าไร

“Expire on” หมายถึงวันหมดอายุหรือวันที่หมดระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้

“Best by” หมายถึงวันที่ที่ระบุว่าอาหารจะคงความสดใหม่ คุณภาพและรสชาติ หรือวันที่สุดท้ายของการใช้อาหารหรือผลิตภัณฑ์ซึ่งยังคงรักษาคุณสมบัติที่ดี

“Use by” หมายถึงวันที่ที่ผู้ผลิตแนะนำไว้ว่าอาหารหรือผลิตภัณฑ์นั้นจะสามารถรับประทานได้จนถึงวันที่ที่ระบุไว้


ที่มา

20 Easy Ways to Reduce Your Food Waste (https://www.healthline.com/nutrition/reduce-food-waste#TOC_TITLE_HDR_22, accessed on 19 Feb 2021)


เขียนโดย ลีณา สุนทรสุข

ภาพโดย น.ส.กัญญพัชร ชุ่มมะโน

เรียบเรียงโดย น.ส.อารยา โช

121 views0 comments

Comments


bottom of page